ไวกิ้งถึงทวีปอเมริการายแรก หลักฐานใหม่ชี้ชัดโคลัมบัสช้าไปแค่ 471 ปี
ไวกิ้งถึงทวีปอเมริการายแรก – วันที่ 20 ต.ค. รอยเตอร์รายงานว่า นักวิทยาศาสตร์เปิดหลักฐานใหม่พลิกตำราประวัติศาสตร์โลก บ่งชี้ว่าชาวไวกิ้งนั้นเดินทางข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกถึงทวีปอเมริกาก่อน คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส นักสำรวจชาวอิตาลี เป็นเวลาถึง 471 ปี
ทฤษฎีดังกล่าวเพิ่งได้รับการพิสูจน์หลังนักโบราณคดีสงสัยมานานแล้วถึงความเป็นมาของแหล่งขุดค้นทางโบราณคดีแลนโซเมโดส์ (หุบผาแมงกะพรุน) บนเกาะนิวฟันด์แลนด์ รัฐนิวฟันด์แลนด์และแลบราดอร์ นอกชายฝั่งทางตะวันออกของประเทศแคนาดาปัจจุบัน
เทคนิคการพิสูจน์หาอายุโบราณวัตถุใหม่ซึ่งอ้างอิงจากการเกิดพายุสุริยะในอดีตจากเศษไม้ 3 ชิ้น ที่ถูกตัดมาสร้างนิคมแห่งนี้ บ่งชี้ว่า นิคมแลนโซเมโดส์นั้นเคยมีผู้คนอาศัยอยู่เมื่อช่วงปีค.ศ.1021 (เมื่อพันปีก่อน) และก่อนที่โคลัมบัสจะเดินทางไปถึงทวีปอเมริกาถึง 471 ปี
หลักฐานใหม่ดังกล่าวเป็นข้อพิสูจน์ที่พลิกโฉมหน้าวงการประวัติศาสตร์โลก และเป็นหลักฐานใหม่ที่บ่งชี้ถึงการเดินทางข้ามมหาสมุทรแอตแลนติที่เก่าแก่ที่สุดเท่าที่เคยมีการค้นพบมา
ทั้งยังเป็นการช่วงเวลาที่นักประวัติศาสตร์ถือว่าเป็นจุดที่มนุษย์เข้ายึดครองพื้นที่ได้รอบโลกอย่างสมบูรณ์ หลังก่อนหน้านี้มนุษย์โบราณต้องอาศัยการเดินทางผ่านแผ่นน้ำแข็งที่เชื่อมระหว่างแคว้นไซบีเรียกับขั้วโลกเหนือเพื่อเข้าไปยังทวีปอเมริกาเหนือ
นายไมเคิล ดี นักธรณีวิทยาจากมหาวิทยาลัยโกรนิงเก็น ประเทศเนเธอร์แลนด์ กล่าวว่า ตำแหน่งผู้เดินทางข้ามแอตแลนติกได้คนแรกต้องมอบให้กับชายุโรปเหนือกลุ่มนี้ ซึ่งคือชาวนอร์ส หรือไวกิ้ง เป็นกลุ่มเชื้อชาตินักเดินเรือ มีภูมิลำเนาอยู่ในแถบสแกนดิเนเวียน เช่น ประเทศนอร์เวย์ เดนมาร์ก สวีเดน และเดนมาร์ก
ชาวไวกิ้งเหล่านี้สมัยก่อนเดินทางไปทั่วยุโรป และมีบทบาทสำคัญทางด้านการค้า สงครามการรุกรานเพื่อยึดครอง และปล้นสะดม ทำให้มีความเชี่ยวชาญเรื่องการต่อเรือ และเดินเรือมาก ทั้งยังเป็นกลุ่มที่แผ่ขยายถิ่นฐานไปยังเกาะกรีนแลนด์ และไอซ์แลนด์ด้วย
นายดี ระบุว่า การเดินทางของชาวไวกิ้งน่าจะเป็นไปทั้งเพื่อการสำรวจและค้นหาแหล่งทรัพยากรใหม่ โดยผู้เชี่ยวชาญหลายคนเชื่อว่า ทรัพยากรที่ชาวไวกิ้งต้องการมากที่สุดนั้นเป็นต้นไม้ เพื่อนำมาต่อเรือและสร้างถิ่นฐาน
หนึ่งในตัวอย่างของเรือที่ชาวไวกิ้งใช้นั้นเป็นเรือพายยักษ์ที่มีลำตัวยาวถึง 21.6 เมตร คือ เรือยาวอูสเบิร์ก ใช้ในยุคของไวกิ้ง ประมาณค.ศ. 793-1066 ขณะที่เทคนิคการวัดอายุด้วยคาร์บอนนั้นไม่มีความแม่นยำเพียงพอในการวัดอายุนิคมโบราณแลนโซเมโดส์
นักวิทยาศาสตร์ต้องใช้การวัดอายุจากเทคนิคใหม่ที่ใช้การเกิดปรากฏการณ์พายุสุริยะในปีค.ศ. 992 ซึ่งก่อให้เกิดลักษณะพิเศษในวงปีของต้นไม้ซึ่งชาวไว้กิ้งที่นิคมดังกล่าวนำมาก่อสร้าง โดยผู้เชี่ยวชาญพบว่า ไม้ทั้ง 3 ชิ้นจากต้นไม้ต่างชนิดกันมีวงปีมากกว่าไม้จากเมื่อช่วงการเกิดพายุสุริยะ 29 วง แปลว่า ไม้ทั้ง 3 ชิ้นนั้นถูกตัดมาทำนิคมดังกล่าวในปีค.ศ. 1021 นั่นเอง
นายดี ยืนยันด้วยว่า การตัดต้นไม้นั้นไม่ใช่ฝีมือของชาวพื้นเมือง เพราะมีหลักฐานว่าใช้โลหะเป็นเครื่องมือในการโค่นต้นไม้ ซึ่งเวลานั้นชาวพื้นเมืองในอเมริกาเหนือยังไม่มีเทคโนโลยีดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์ยังไม่ทราบชัดเจนว่า นิคมดังกล่าวมีชาวไวกิ้งอยู่อาศัยถึงช่วงใด แต่คาดว่าน่าจะประมาณ 10 ปี และคาดว่ามีผู้คนอยู่อาศัยประมาณ 100 คน ทั้งลักษณะสิ่งปลูกสร้างนั้นเหมือนกันกับสิ่งปลูกสร้างบนเกาะกรีนแลนด์ และไอซ์แลนด์
ด้านคำบอกเล่าทางประวัติศาสตร์บ่งชี้ถึงการมาถึงของชาวไวกิ้งในทวีปอเมริกา และได้รับการบันทึกในเวลาหลายร้อยปีถัดมา โดยชาวไวกิ้งนั้นมีปฏิสัมพันธ์กับชาวพื้นเมืองทั้งสันติและการสู้รบ ซึ่งชาวไวกิ้งมีเมืองของตัวเองเรียกว่า วินแลนด์ และมีผู้นำเป็น เลฟ เอริกสัน ซึ่งนำชาวพื้นเมืองมาเป็นทาสด้วย
“Esploratore. Appassionato di bacon. Social mediaholic. Introverso. Gamer. Studente esasperatamente umile.”